Double Slit Experiment




หลายปีมาแล้วที่พ่อ (หมอประสาน ต่างใจ) พยายามอธิบายเกี่ยวกับการทดลองอันลือลั่น “duble slit experiment” นี้ให้ลูกฟัง แล้วสรุปสั้นๆ ว่า อิเลคตรอน โฟตอน หรืออนุภาคนั้นมันเป็นอะไรก็ได้ เป็นคลื่นหรือเป็นอนุภาคก็ได้ ขึ้นอยู่กับการสังเกต ซึ่งลูกก็นำไปโยงใย (ตามระบบเครือข่ายประสาทในสมอง) กับกฏข้อสำคัญทางควอนตัมที่กล่าวว่า “ผู้สังเกตกับสิ่งที่ถูกสังเกตคือหนึ่งเดียวอย่างไม่อาจแบ่งแยกได้”

วันนี้ Fred Alan Wolf, Ph.D. หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์กลุ่ม What the Bleep!? ในนาม Dr. Quantum ได้สร้างสื่อในรูปแบบการ์ตูน ทั้งหนังสือและวีดีโอ ดังที่ได้แนบมาให้ชมพร้อมกันไปนี้ ทำให้การทดลองดังกล่าวถูกเผยแพร่ให้ประชาชนคนธรรมดาทั่วไปได้สัมผัส ควอนตัมฟิสิกส์อย่าง “เห็นภาพ” เข้าใจได้ว่าในโลกควอนตัมนั้นอนุภาคไม่ได้เป็นสสารแข็งตันอย่างลูกหิน ทั้งมันยังทรงคุณสมบัติของความเป็นคลื่น คลื่น-อนุภาค ความเป็นสองในหนึ่งเดียวอีกด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น ความซับซ้อนของการทดลองนี้ยังมีต่อๆ ไป เสมือนหนึ่งจะไร้ขอบเขตเลยทีเดียว แต่ ณ ที่นี้ ผู้เขียนขอแบ่งความซับซ้อน ออกเป็นข้อใหญ่สองข้อคือหนึ่ง “การสังเกตของเราได้เข้าไปมีส่วนล้มคลื่นควอนตัมให้กลายเป็นอนุภาค เป็นสสาร” และสอง “เวลา” อันสัมพันธ์อย่างแยกไม่ได้กับพื้นที่ ตลอดจนมิติ สนามต่างๆ

พูดอย่างนี้ก็คงจะนึกภาพตามลำบากอยู่ดี เอาเป็นว่าหลังจากที่ได้ดูการ์ตูน ดร. ควอนตัมนี้แล้ว ก็ขอให้จินตนาการต่อไป ว่านักฟิสิกส์ได้พยายามทุกวิถีทางที่จะหลอกอนุภาค อย่างเช่น เมื่อมีการสังเกต ตรวจจับทิศทางการวิ่งของมัน มันจะแสดงตัวเป็นอนุภาคให้เราเห็นที่ฉากรับ แต่หากเราไม่สังเกตไม่ถูกตรวจสอบข้อมูลมันก็จะปรากฏเป็นคลื่น ไม่ว่าเครื่องตรวจวัดจะถูกติดตั้งก่อนหรือหลังจากที่อนุภาคจะถูกปล่อยออกมาจากเครื่องยิง มันก็จะมีพฤติกรรมประหนึ่ง “รู้” อยู่แล้วว่าจะถูกสังเกตหรือไม่เสมอ กระทั่งเมื่อนักฟิสิกส์ไปติดตั้งเครื่องมือลบข้อมูล (ที่ได้จากการสังเกต) ก่อนที่มันจะถึงฉากหลังเพียงนิดเดียว นั่นเหมือนกับว่ามันสบายใจที่ข้อมูลถูกลบไปแล้ว แสดงพฤติกรรมเป็นคลื่นในทันที (ทั้งที่ตลอดเส้นทางที่ถูกตรวจวัด มันเป็นอนุภาคมาตลอด) หรือเมื่อนักฟิสิกส์แยกโฟตอนออกเป็นสอง แล้วสังเกตคู่ของมัน โดยที่ไม่ได้ไปยุ่งกับอีกตัวหนึ่งเลย มันทั้งสองก็ยังแสดงพฤติกรรมเป็นอนุภาคเหมือนกันทันที นั่นแสดงว่านอกจากมันจะ “รู้” แล้ว มันยังสื่อสารถึงกันโดยฉับพลันอีกด้วย

หลังจากที่นักฟิสิกส์ได้พยายามหลอกอนุภาคอย่างสุดความสามารถ นอกจากมันจะไม่เคยถูกหลอก แล้วมันยังทำประหนึ่งว่าเราหลอกตัวเองซะอย่างนั้นแหละ ก็ลองคิดดูสิ หากอนุภาคโฟตอนไม่ได้ถูกยิงออกมาจากเครื่องยิง แต่มันถูกส่งมาไกลสักพันปีแสงเดินทางผ่านอวกาศอันไกลโพ้นมาถึงโลก แล้วมีเราเป็นผู้สังเกต แล้วคลื่นก็ล้มให้เราเห็นมันเป็นอนุภาคเป็นสสาร ซึ่งไม่ว่าเราจะไปดักจับมันตรวจ แล้วดักลบข้อมูลที่ตรวจได้ สักกี่ครั้งกี่หน ผลก็ออกเหมือนเดิมว่าอนุภาคนั้น “รู้ตัว” ตั้งแต่ก่อนที่มันจะออกเดินทางแล้วว่าในท้ายสุด มันจะแสดงพฤติกรรมเป็นอะไร จะมีใครมาดักสังเกต ดักลบข้อมูลการสังเกต มันอยู่รึเปล่า

มีอะไรจะพิสดาร เจ้าเล่ห์แสนกล แปลกประหลาดไปกว่าการสังเกต การรับรู้ ของเราอีกไหมนี่?

การสังเกตตรวจวัดจะทำให้อดีตเหลือเพียงความเป็นไปได้หนึ่งเดียวเท่านั้น และผลการตรวจวัดได้กลายเป็นตัวกำหนดเส้นทางการเคลื่อนที่ของอนุภาค(โฟตอน)ไปโดยปริยาย ทำให้มีอดีตเพียงหนึ่งเดียวที่เป็นไปแล้วถูกนำมาพิจารณา โอกาสที่จะเกิดการสอดแทรก (อันเป็นคุณสมบัติของคลื่น) ได้ถูกทำลายไป นั่นคืออดีตทีี่เปี่ยมศักยภาพความเป็นไปได้ทั้งหมดทั้งมวลถูกตัดแต่ง
จากสามัญสำนึกการรับรู้ของเราที่บอกเราว่า มันจะมีเพียงเส้นทางเดียวเท่านั้นที่อนุภาคหนึ่งตัวจะเคลื่อนผ่านไปได้ ณ ขณะหนึ่ง

แล้วก็มาถึงเรื่อง sum over histories ของริชาร์ด ฟายน์แมน (Richard Feynman) ยอดมนุษย์อัจฉริยะเจ้าของสูตรรวมอดีต (ผลรวมของคลื่นความเป็นไปได้ทั้งหมดของอดีตจาก จุด A-B) อันเป็นสูตรการคำนวณที่ใช้การได้กับพฤติกรรมคลื่นอนุภาคซึ่งพาเราไปพ้นทางตันของฟิสิกส์คลาสิก แต่นั่นก็เป็นการบอกเราไปพร้อมๆ กันว่ากฏเอ็นโทรปีข้อสองที่มนุษย์เราทั้งหลายคุ้นเคยอย่างอดีต ปัจจุบัน อนาคต จากการเกิดไปสู่ความเสื่อมสลายและความตาย เวลาเป็นเส้นตรงดั่งลูกศรพุ่งออกไปสู่เป้าหมายนั้นเป็นความเพี้ยนไปจากความจริงพื้นฐานของจักรวาล ... ก่อนจะคุยกันเรื่องความคิดอ่านของเขา เราไปฟังเขาเล่นบองโกในเพลง คิดถึงน้ำส้มคั้น กันก่อนดีกว่า

หลวงปู่ควอนตัม (ตอนที่ 2)


เมื่อมีพระเณรถามหลวงปู่ตามตำราที่ว่ามีเทวดามาชุมนุมฟังเทศน์ หรือมาเฝ้าพระพทุธเจ้าหลายสิบโกฏินั้น จะมีสถานที่บรรจุพอหรือ เสียงจะดังทั่วถึงกันหรือฯ หลวงปู่ตอบว่า “เทวดาจะมาชุมชนุมกัน จำนวนกี่ล้านโกฏิก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะในเนื้อที่หนึ่งปรมาณู เทวดาอยู่ได้ถึงแปดองค์” นั่นหลวงปู่กำลังพูดถึงความจริงทางควอนตัม
ข้อที่ 4 ซึ่งจักรวาลควอนตัมเพิ่มจำนวนได้เป็นหลายๆ จักรวาล หรือหลายมิติ ม้วนซ้อนกันตลอดไป เป็นโลกแห่งอภิมหาสัจธรรม (super-reality world) อันเป็นป่าทึบของความสัมพันธ์ของความเป็นไปได้ต่างๆ นาๆ และความเป็นไปได้แต่ละอย่างก็แยกกันอยู่ในจักรวาลหรือมิติของตนเอง เครื่องมือที่จะใช้สังเกตความเป็นไปได้ก็แยกออกไปด้วย (ระดับชั้นของความจริงที่ม้วนซ้อนสเมือนหนึ่งแยกขาดจากกัน)

แล้วก็มีนักปฏิบัติกราบเรียนหลวงปู่ “กระผมพยายามหยุดคิด หยุดนึกให้ได้ตามที่หลวงปู่สอน แต่ไม่เป็นผลสำเร็จสักที ซ้ำยังเกิดความอึดอั้นแน่นใจ สมองมึนงง แต่กระผมก็ยังศรัทธา ว่าที่หลวงปู่สอนไว้ย่อมไม่ผิดพลาดแน่ ขอทราบอุบายวิธีต่อไปด้วยฯ หลวงปู่ตอบว่า “ก็แสดงถึงความผิดพลาดอยู่แล้ว เพราะบอกให้หยุดคิด หยุดนึก ก็กลับไปคิดที่จะหยุดคิดเสียอีกเล่า แล้วอาการหยุดจะอุบัติขึ้นได้อย่างไร จงกำจัดอวิชชาแห่งการหยุดคิด หยุดนึกเสียให้สิ้น เลิกล้มความคิดที่จะหยุดคิดเสียก็สิ้นเรื่อง” เรื่องนี้สอดคล้องกันกับหัวข้อ “จับกับวาง” ซึ่งหลวงปู่กล่าวไว้ “ผู้ใดหลงใหลในตำราและอาจารย์ ผู้นั้นไม่อาจพ้นทุกข์ได้ แต่ผู้ที่จะพ้นทุกข์ได้ต้องอาศัยตำราและอาจารย์เหมือนกัน” ตำรา อาจารย์ ความคิด ล้วนใช้ตรรกะเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอด เรียนรู้ อันเทียบได้กับความจริงทางควอนตัมข้อที่ 5 ซึ่งบอกว่า โลกและจักรวาลไม่อยู่ภายใต้ตรรกะของเหตุปัจจัย หรือเหตุผลของมนุษย์ (The world obeys a non-human kind of logical reasoning) นักฟิสิกส์ควอนตัมจึงบอกว่า อย่าพยายามทำหรือพยายามเข้าใจฟิสิกส์แห่งยุคใหม่ตามความคิด ความรู้ที่เรามี แต่จงเปลี่ยนความรู้และความคิดที่มีให้เป็นตรรกะแห่งควอนตัม (quantum-logic) หรือตรรกะแห่งคลื่น

“สิ่งที่ปรากฏเห็นทั้งหมดนั้น ยังเป็นของภายนอกทั้งสิ้น จะนำเอามาเป็นสาระ ที่พึ่งอะไรยังไม่ได้หรอก” เป็นคำของหลวงปู่เมื่อมีผู้บอกว่าตนนั้นวาสนาดี ทำวิปัสนาได้สำเร็จเห็นสวรรค์วิมาน เห็นพระจุฬามณีเจดีย์สถาน นั้นเปรียบได้กับความจริงทางควอนตัมข้อที่ 6 โลกและจักรวาลถูกสร้างขึ้นมา ด้วยส่วนขยายของอนุภาคหรือคิวออนส์ (wave-particle) ใดๆ quons คือส่วนขยายเหมือนกันทั้งหมด (The world is made of ordinary object attribute) นั่นคือไม่ใช่รูปกายวัตถุ แต่รับรู้ให้คิดว่าเป็นวัตถุด้วยพื้นฐาน ที่เป็นธรรมหรือส่วนขยายที่อยู่ในสภาพคลื่นของอนุภาคหรือคิวออนส์ พัวพันโยงใยกัน นีลส์ บอร์ห จึงกล่าวเอาไว้ว่า “วัตถุที่มีรูปกายที่เรารับรู้นั้น นอกจากจะเป็นความฟุ่มเฟือยที่ไม่จำเป็นแล้ว มันยังเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เอาเสียเลย”

หลวงปู่ฝากไว้ว่า
“จิตที่ส่งออกนอก เป็นสมุทัย
ผลกันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอก เป็นทุกข์
จิตเห็นจิต เป็นมรรค
ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิต เป็นนิโรธ”
เมื่อมาวางคู่กับความจริงทางควอนตัมข้อที่ 7 จิตวิญญาณสร้างความจริงแท้
(consciousness creates reality) จากเหตุที่เราไม่สามารถตรวจจับวัดทิศทางหรือ ทำนายคุณสมบัติของคลื่นอนุภาคได้ด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ก็เพราะว่า เครื่องมือที่ว่านั้นมนุษย์สร้างขึ้นมาจากกฏแห่งฟิสิกส์คลาสิค แต่ถ้าหากเราใช้ เครื่องมือตามธรรมชาติเช่นสมองในความสงบก็จะปรากฏขึ้นมา จากความเชื่อมโยงของส่วนขยาย นั่นจึงเป็นความจริงอีกขั้นหนึ่งที่ปรากฏขึ้น จากการสังเกต (Observation-created reality) It is no possible to formulate the laws of quantum mechanics in a fully consistent way without reference to the consciousness … in the future the very study of the external world will lead to the conclusion that the content of the consciousness is an ultimate reality.

ครั้งหนึ่งเมื่อมีผู้ถามถึงวิธีละนิมิต หลวงปู่บอกว่า “เออ นิมิตบางอย่าง มันก็สนุกดี น่าเพลิดเพลินอยู่หรอก แต่ถ้าติดอยู่แค่นั้นมันก็เสียเวลาเปล่า วิธีละได้ง่ายๆ คือ อย่าไปดูสิ่งที่ถูกเห็นเหล่านั้น “ให้ดูผู้เห็น แล้วสิ่งที่ ไม่อยากเห็นนั้นก็จะหายไปเอง” กับความจริงทางควอนตัมข้อที่ 8 นั้นเป็น Heisenberg’s potentialities ที่ว่า Only phenomena are real, the world beneath phenomena is not real หรือปราฏการณ์นั้นไม่ใช่เครื่องมือในการรับรู้ความจริง มีแต่จิตวิญญาณเท่านั้นที่มีคลื่นเชื่อมโยงต่อกันกับคลื่นความจริงของจักรวาลซึ่งอยู่ในสภาวะที่เปี่ยมล้นไปด้วยศักยภาพความเป็นไปได้ทั้งหมดทั้งมวล

ตามที่ข้อเขียนนี้ได้ยกเอาความจริงทางควอนตัมทั้งแปดข้อมาเปรียบกับคำสอนของหลวงปู่นั้น ผู้เขียนรู้ดีว่าเกิดจากความ “ริอ่าน” โดยแท้ และหากการเปรียบเทียบนั้นจะเกิดประโยชน์บ้างในทาง “ความคิด” ก็ขอตั้งจิตอธิษฐานให้แปรสภาพจากความเป็นก้อน สู่ความเป็นคลื่น อันทรงคุณสมบัติไหลเลื่อนคลื่อนที่เปลี่ยนแปลงเชื่อมโยงไปอย่างไร้ขอบเขต

หลวงปู่ควอนตัม (ตอนที่ 1)


วันนี้ตั้งแต่เช้าตื่นมาก็เปิดเจออีเมล์ของน้องชาย
ส่งมาเล่าเรื่องความประทับใจของเขาที่ได้มีโอกาสใกล้ชิด ประสบการณ์พิเศษ สัมผัสความสงบเย็นเกินจะบรรยายจากพระอริยสงฆ์รูปหนึ่ง แล้วพอตกบ่ายก็ได้คุยกับน้องอีกคนซึ่งเขาเคยมาเยี่ยมเยียนที่เชียงราย เมื่อสองสามปีก่อน (สมัยมูลนิธิฯ ยังอยู่ที่อิงดอยรีสอร์ท) ใน hi5 และที่ต้องเกริ่นถึงน้องคนนี้ก็เพราะเขาเป็นเหตุให้ภารกิจ ณ ปัจจุบันขณะนี้ กระจ่างชัดขึ้นมา อันเป็นประเด็นที่ทำให้ต้องมาเปิดข้อเขียน “หลวงปู่ควอนตัม” นี้ขึ้น

น้องคนนี้เขาเคย set profile ของเขาไว้ว่า “อ่านหนังสือของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล จบแล้ว” ก็เลยทำให้สนใจอยากรู้จักเขาให้มากกว่าความรู้สึกแค่คุ้นๆ น่าตา ทำให้ไปไถ่ถามคุณใหญ่ (วิศิษฐ์ วังวิญญู) ว่าน้องเอ๋คนนี้เป็นใครกัน รายนั้นก็ตอบมาว่า “ก็เอ๋ที่อ่านเคน วิลเบอร์ ไงล่ะ” โอ้โห… คนอ่านเคน วิลเบอร์ แตกฉานบ้านเราก็มีไม่กี่คน (อ่านแตกจนคุณใหญ่จำได้) แล้วยังมา “ริอ่าน” หนังสือหลวงปู่ควอนตัมอีกแน่ะ จำเราจะต้องเข้าไปทักทายเขาเสียหน่อยแล้ว

น้องเอ๋ชวนคุยกลับมาว่าเขาอ่าน “จิตคือพุทธะ” ที่หลวงปู่เทศน์แล้วเหมือนอ่าน A Brief History of Everything ของ เคน วิลเบอร์ หรือว่าเคนเขียนเหมือนหลวงปู่เทศน์กันแน่ ?? แล้วพี่เมมองคำสอนหลวงปู่จากมุมมองควอนตัมแล้วเป็นไง ชวนให้เล่าสู่กันฟัง…

เมื่อนานมาแล้ว พ่อ (หมอประสาน ต่างใจ) เคยบอกไว้ว่า มีหลวงปู่… รูปหนึ่งพูดภาษาควอนตัม ลูกก็ไม่เคยได้เที่ยวไปค้นหา จนกระทั่งวันหนึ่งได้พบหนังสือ “หลวงปู่ฝากไว้” (รวบรวมบันทึกไว้โดย พระครูนันทปัญญาภรณ์) เป็นหนังสือเล่มเล็กที่บันทึกคำของหลวงปู่ เป็นบทสั้นๆ เอาไว้ ก็เลยลองพลิกๆ อ่านดู … การริอ่านโดยบังเอิญครั้งนั้นสร้างความตื่นตะลึงลาน งง ทึ่ง จนถึงรู้แจ้งกระจ่างในใจว่าหลวงปู่ดูลย์นี้ไซร้ แน่แท้ “หลวงปู่ควอนตัม” ที่พ่อบอก

กลับไปยังประเด็นที่น้องเอ๋ตั้ง อย่างตั้งใจจะให้ไปพ้นการเปรียบเทียบแบบหยาบๆ แต่… เมื่อกลับไปพลิกดู “จักรวาลกับสัจธรรม” ซึ่งพ่อรวมความจริงทางควอนตัมเอาไว้ มาประกอบกันแล้ว ก็คงจะต้องขอเชิญคนอ่านพิจารณาหยาบ ละเอียด กันไปตามภูมิธรรมเถิด

เริ่มจากหัวข้อ “จริง แต่ไม่จริง” ของหลวงปู่ ซึ่งตอบคำถามที่ว่าเมื่อผู้ปฏิบัติกัมมัฏฐาน ทำสมาธิภาวนา เห็นนิมิตต่างๆ กันไป บ้างเห็นนรก สวรรค์ หรือไม่ก็เห็นองค์พระพุทธรูป สิ่งที่เขาเห็นเหล่านั้นเป็นจริงหรือ? หลวงปู่บอกว่า
“ที่เห็นนั้น เขาเห็นจริง แต่สิ่งที่ถูกเห็น ไม่จริง” ซึ่งขอนำมาวางเคียงกับ
กฏควอนตัมข้อที่ 1 นีลส์ บอห์ร สรุปว่า “There is no reality in the absence of observation” (สรรพสิ่งไม่มีจริงถ้าเราไม่เข้าไปสังเกตมัน) หรือโลกและจักรวาลเป็นจริงตามที่เราสัมผัส มันจริงในระดับกายวัตถุเท่านั้น แต่ไม่เป็นจริงในโลกควอนตัม

ปัญหาโลกแตกแบบมโนสาเร่ หลวงปู่ก็เคยตอบไว้เมื่อมีผู้ถามว่าไก่กับไข่อะไรเกิดก่อน หลวงปู่ตอบว่า “เกิดพร้อมกันนั่นแหละ” นี่หากจะเทียบอาจนำไปเทียบได้กับภาพมือสองข้างที่ต่างก็วาดกันและกันขึ้นมา ตามกฏความจริงทางควอนตัมข้อที่ 2 Observation Creates worldly reality หรือที่จอห์ อาร์ซิบาลบอกว่า “เป็นความจริงที่ผู้สังเกตสร้างขึ้นมา ไม่มีปฐมกาลหรือปรากฏการณ์ใดเป็นจริงจนกว่าปรากฏการณ์นั้นจะถูกสังเกต"

ส่วนในบท “โลกกับธรรม” หลวงปู่บอกว่า “สิ่งใดซึ่งสามารถรู้ได้ สิ่งนั้นเป็นของโลก สิ่งใดไม่มีอะไรจะรู้ได้ สิ่งนั้นคืออธรรม โลกมีของคู่อยู่เป็นนิจ แต่ธรรมเป็นของสิ่งเดียวรวด"
ความจริงทางควอนตัมข้อที่ 3 Reality is undivisable wholeness ความจริงแท้คือความเป็นหนึ่งเดียวที่ไม่อาจแบ่งแยกออกจากกันได้ สรรพสิ่งและปรากฏการณ์ต่อเนื่องกันด้วยส่วนขยาย (attributes) ที่ได้มาจากอนุภาค ส่วนขยายจะพัวพันเชื่อมโยงกันเป็นพื้นฐาน การเกิดของสรรพสิ่งและสรรพปรากฏการณ์ (Phrase-Tangleness) ซึ่งในระดับควอนตัมที่แยกจากกันไม่ได้นี้เป็นพื้นฐานหลักที่เดวิด โบห์มเรียกว่า “The inseparable quantum interconnectedness of the universe in the fundamental reality”

มีต่อตอนที่ 2