Quantum Consciousness / Orch Or

Orchestrated Objective Reduction of Quantum Coherence in Brain Microtubules: The "Orch OR" Model for Consciousness


A New Marriage of Brain and Computer - Why 'The Singularity" Is Bogus
ขอเชิญชวนผู้อ่านที่สนใจติดตามบล็อกนี้ดู google talk ไปพลางก่อนนะคะ ไว้เมื่อจักรวาลจัดสรรแล้ว เราจะมาคุยกัน


ความทรงจำ ความฝัน ความคิดคำนึง



มีหนังสือคาร์ล กุสตาฟ ยุง ความทรงจำ ความฝัน ความคิดคำนึง ...​(ฉบับแปลโดยพจนา จันทรสันติ) วางอยู่ข้างๆ ...หนังสือเล่มนี้ไม่เคยห่างจากตัวมาได้สามสี่วันคืนแล้ว อ่านต่อจาก surely you're joking Mr. Feynman ..และมันก็น่าแปลกจริงๆ ที่ฟายน์แมน จบหนังสือเล่มสำคัญของเขาด้วยเรื่องราว งานวิจัย rat running ของคาร์ล ยุง

ฟายน์แมนเป็นนักฟิสิกส์ทั้งเนื้อทั้งตัว ทั้งหัวใจและจิตวิญญาณ เขาเขียนบทสุดท้ายเล่าถึงการ ไปเยือนอิซาเลน (คล้ายกับอาศรมฯ ต่างๆ) ว่าช่างเป็นสถานที่ๆ มีความงดงามทางธรรมชาติ เขาไปแช่บ่อน้ำร้อนที่อยู่ริมทะเล ร่วมกับหนุ่มๆ แห่งอิซาเลน แล้วจู่ๆ ก็มีหญิงสาวเดินเปลือยกายเข้ามา ชายหนุ่มทุกคนหันไปมองแล้วก็สัมผัสได้ว่าทุกคนคิด ๆๆ ด้วยความปั่นป่วน รุมเร้า ว่าจะเข้าไปหาสาวแสนสวยเซ็กซี่คนนี้ยังไง ฟายน์แมนก็เช่นกัน เขาครุ่นคิด... แต่แล้วก็มีหนุ่มคนหนึ่งเอ่ยขึ้นว่า เขามาเรียนนวดอยู่ที่นี่ เสนอนวดตัวให้สาวคนนั้น.. แล้วหญิงสาวก็ตอบ Yes!!! โอ้โห...ฟายน์แมนประทับใจในสุดยอดอภิมหามุก ในการจีบสาวแบบถึงเนื้อถึงตัวภายในไม่มีกี่นาทีของหนุ่มอิซาเลน ขณะเดียวกันก็เก็บความคั่งแค้นไว้ในใจ เมื่อหญิงสาวล้มตัวลงนอนเหยียด ยาวบนเบาะริมบ่อน้ำร้อน ชายหนุ่มเริ่มลูบไล้ สัมผัสจากหัวแม่เท้าของสาวเจ้า แล้วบอกว่า นั่นเป็นจุดที่เชื่อมโยงกับ ต่อมพิทาทูอิ ฟายน์แมนไม่อาจควบคุมตัวเองได้อีกต่อไป เขาโพล่งออกไปว่าประมาณ ..บ้ารึเปล่า ไอ้ต่อมบ้านั่นน่ะอยู่ห่างไกลจากหัวแม่ตีนเยอะเลย อะไรประมาณนี้ ... ได้ผล สองหนุ่มสาวมองกลับมาที่เขาด้วยสายตาปานจะกินเลือดกินเนื้อ เขาจึงจำต้องทำทีเป็นนั่งหลับตาตามลมหายใจ อาบไล้ร่างด้วยสายลมแสงแดดต่อไป ทำใจให้สงบไว้...

ฟาย น์แมน บอกว่าอิซาเลนในมุมมองของเขานั้นเป็น "แอร์พอร์ตอันทันสมัยเพรียบพร้อม แต่ขาดอยู่เพียงอย่างเดียวก็คือ เครื่องบินที่จะมาลงที่นี่"

เขาเปรียบเปรยว่ามีผู้คนมากมายพยายาม ชักนำความเป็นจริงทางวิทยาศาสตร์ ให้เข้ามาหา "ความเชื่อ" ของตัวเอง ของพวกนักจิตนิยมทั้งหลาย และกล่าวยกย่องงานวิจัยเรื่องหนูวิ่งของ คาร์ล กุสตาฟ ยุง ว่าเป็นสุดยอดงานวิจัยที่เป็นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ ยุง มีความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณ อย่างชัดเจนที่สุด แต่เมื่อยุงทำงาน เขามี rat running อยู่ในเนื้อในตัวเสมอ

พ่อของยุงเป็นอนุศาสนาจารย์ นิกายโปแตสแตน พ่อจบปริญญาเอกด้านปรัชญาแต่พ่อก็ยุติความทะเยอทะยานในอันที่จะก้าวสู่ความ รุ่งโรจน์ด้วยการแต่งงานกับแม่แล้วมาเทศนาสั่งสอนอยู่ในโบสถ์เล็กๆ ของเมืองเล็กๆ ที่ยุงถือกำเนิด (ปู่ของยุงเป็นลูกนอกสมรสของเกอเธ่ด้วย)

ยุง อาจจะเป็นหนึ่งในเด็กพิเศษรึเปล่าก็ไม่รู้นะ วัยเด็กที่ยุงเล่าไว้ ตั้งแต่อายุสักประมาณ 6 เดือน จนถึง 18 ปี ปฐมวัยถึงวัยเรียนนั้น อ่านแล้วเป็นที่สุดแห่ง synchronicity โดยแท้ การเล่นในวัยเยาว์ที่เป็นเสมือนประตูเข้าสู่จิตไร้สำนึก ทั้งยังค้นพบภายหลังด้วยว่ามีสัญญลักษณ์ที่เป็นหนึ่งเดียวกับพิธีกรรมอัน ศักดิ์จากยุคบรรพกาล

เมื่ออ่านเรื่องความสัมพันธ์ของยุงกับฟรอยด์ ก็พบความเหลื่อมซ้อนในความสัมพันธ์ของยุงกับพ่อด้วย

ยุง เล่าว่าพ่อของเขานั้นเกิด "วิกฤติศรัทธา" อย่างหนักในช่วงสองปีสุดท้ายก่อนที่จะเสียชีวิต ทะเลาะเบาะแว้งกันอย่างรุนแรงในแทบจะทุกครั้งที่พบเจอ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึึ้นก็คือ ยุงจะจี้คำถามตรงไปที่ศรัทธาพ่อตลอดเวลา เมื่อพ่อตอบไม่ได้ก็กลายเป็นความรุนแรง เป็นความพยายามที่จะ "ปกป้อง" แม้กระนั้นพ่อก็ยังพร้อมเสมอในอันที่จะ "เสียสละ" ทุกอย่างเพื่อให้ยุงได้ขึ้นไปถึงยอดเขาสูง และในบั้นปลายชีวิตพ่อก็อ่านงานของซิกมุนด์ ฟรอยด์ อีก

ในความ สัมพันธ์กับฟรอยด์ ยุงสัมผัสได้ว่าฟรอยด์เองก็ไม่พ้นความพยายามสร้างป้อมปราการเพื่อ "ปกป้อง" ในสิ่งที่ตนไม่รู้ เช่นเดียวกับพ่อของเขา ทั้งที่ฟรอยด์ก็แสดงออกชัดแจ้งว่าต่อต้านศาสนา แต่เขากลับรุนแรง จริงจัง ในอันที่ตั้งเรื่อง "เพศ" เอาไว้เป็นแกนกลางทุกอย่าง จนกระทั่งกลายเป็นความ "ศักดิ์สิทธิ์" (แต่ก็เป็นความศักดิ์สิทธิ์ที่จะต้องปกป้อง)

ยุงเองรู้สึกเสมอมาว่าฟรอยด์พยายามจะสร้างให้เขากลายเป็นป้อมปราการที่แข็งแกร่ง ทั้งสายตาที่มองมาประหนึ่งว่าเขา (ซึ่งตอนนั้นอายุประมาณยี่สิบกว่าปี) เป็นพ่อของฟรอยด์ (ผู้อาวุโสกว่าทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ และประสบการณ์) แต่ในขณะเดียวฟรอยด์ก็หมกมุ่นกับความคิดที่ว่ายุงพยายามทำ "มรณะเจตนา" (การฆ่าทางจิต) เพื่อฆ่าเขา

ยุงก็ไม่รู้ว่าทำไมจึงเกิดเสียงดัง สนั่นขนาดเสียงปืนขึ้นที่บ้านของเขาหลังจากที่พ่อตายไปได้ไม่นาน และแล้วโต๊ะเก่าแก่ที่ทำด้วยไม้แข็งก็แตกร้าว หรือว่ามีดที่ทำจากเหล็กชั้นดีถึงได้แตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยทั้งๆ ที่ไม่มีวัตถุใดไปกระทำ ต่อหน้าต่อตาแม่และยุงที่ยืนอยู่ตรงนั้นแล้ว เสียงดังสนั่นนั้นก็มาเกิดขึ้นอีกครั้งบนชั้นหนังสือของฟรอยด์ขณะที่เขาและฟ รอยด์กำลังถกกันอย่างดุเดือด ปรากฏการณ์เสียงนั้นทำให้ฟรอยด์ถึงกับตะลึงงันไป แล้วยุงก็ยังพูดขึ้นว่ามันจะดังขึ้นอีกครั้ง (ทั้งที่เขาเองก็ไม่รู้ว่าตัวเองนั้นรู้ได้อย่างไรว่ามันจะดังขึ้นอีก) แล้วมันก็ดังขึ้นอีกครั้งจริงๆ .... ผู้อ่านคงจะพอเดาได้ใช่ไหมว่าฟรอยด์รู้สึกอย่างไรกับยุงที่นอกจากจะไม่ยอม เป็นป้อมปราการปกป้องความ "ไม่รู้" ให้แล้ว ยังกลายเป็นความลึกลับน่าหวาดกลัวซึ่งฟรอยด์ไม่อาจจะหยั่งถึงอีกด้วย

เมื่อ ยุงตีพิมพ์งานชิ้นสำคัญซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ของเขาและฟรอยด์ขาดสะบั้นลง ยุงก็ต้อง "เริ่มต้นใหม่" ด้วยความเคว้งคว้างและอ่อนแอในบท "เผชิญจิตไร้สำนึก" ...เขาให้ผู้ป่วยตีความความฝันด้วยตัวของพวกเขาเอง เพราะยุงเชื่อว่า ความฝันเป็นการสื่อสารจากจิตไร้สำนึกของผู้ฝัน ดังนั้นจิตสำนึกของผู้ป่วยเป็นผู้รับสารตรง จะต้องตีความหมายเอง (เขาพิสูจน์แล้วในตีความความฝันร่วมกันกับฟรอยด์และเขาก็พบว่าเขาหลอกฟรอยด์ ได้จริงๆ) อย่างไรก็ตาม ณ ยุคสมัยของเขานั้น ยุงยกย่องว่าฟรอยด์เป็นผู้บุกเบิก เป็นคนแรกที่เปิดยุคสมัยของจิตวิทยาจิตไร้สำนึก ฟรอยด์นำเอา "จิต" เข้ามาสู่วิถีของการบำบัดรักษา ฟรอยด์รู้จักและเข้าใจผู้ป่วยของเขาอย่างแท้จริงและอย่างที่ไม่เคยมีใครเคย ทำมาก่อน

ยุงกลับไป "เริ่มต้นใหม่" ที่ "การเล่น" เมื่อเขาอายุ 11 ขวบ เขาใช้เวลาในช่วงว่างจากงานเล่นสร้างเมืองเล็กๆ จากเศษวัสดุ หิน กิ่งไม้ ฯลฯ และก็ไม่ทิ้งเรื่อง "ความฝัน" และประตูทั้งสองบานนี้เองที่เปิดให้จิตไร้สำนึกสื่อสารแบบหลั่งไหลเข้าหาเขา รวดเร็ว ถั่งถม จนจดบันทึกไว้แทบไม่ทันเลย

เรื่องการเล่นในปฐมวัยน่าสนใจมากจริง เมื่อคืนอ่าน "เผชิญจิตไร้สำนึก" แล้วมึนตึ๊บไปเลย (ก็คงต้องมึน เพราะยุงเองก็มึนหนักจนเกือบจะข้ามเส้นเป็นบ้าหรือบุคคลิกภาพแปรปรวนไปเลย เหมือนกัน เขาต้องคอยย้ำ คอยป้องเทียนเล่มน้อยแห่งจิตสำนึกเอาไว้ บอกตัวเองบ่อยๆ ว่าเรียนจบมหาบัณฑิต เป็นหมอ มีการงานต้องทำ มีคนไข้ต้องดูแล มีภรรยาและลูกๆ กระทั่งถึงกับต้องย้ำเรื่องบ้านเลขที่กันเลยทีเดียว ยิ้มกว้างๆ)


ยุง ในช่วงปฐมวัยนั้น เขาเล่าว่าเกิดความทรงจำเป็นห้วงขณะหนึ่งๆ เขาบรรยายถึงสภาวะ ณ ขณะนั้นๆ ได้อย่างนวลเนียน ละมุนละไม อย่างเช่นสีสรรค์ของแสงที่สะท้อนกับหลังคาเปลรถเข็นเด็ก หรือกลิ่นเส้นผมของพี่เลี้ยงที่อุ้มเขาพาดบ่า รสของขนมปังที่จุ่มนมสดกรุ่นๆ ชุดผ้าดำพิมพ์ลายรูปจันทร์เสี้ยวของแม่ ช่วง 6 เดือนแรกจนถึงหกขวบนี้ ยุงหวาดกลัวโบสถ์คาทอลิกที่แม่พาไปชม แต่ยุงก็ชอบบรรยากาศในโบสถ์ของพ่อเฉพาะช่วงคริสต์มาส นอกนั้นน่าเบื่อหน่าย เขาดื่มด่ำกับพิพิธภัณฑ์มากกว่า (ป้าพาไปและอยู่จนถึงเวลาปิดพิพิธภัณฑ์ เด็กน้อยยุงยืนดูสัตว์สตัฟฟ์ โบราณวัตถุ ปฏิมากรรมภาพเปลือย อย่างละเอียดละออ)

ในวัยประมาณสามสี่ขวบ ได้เกิดนิมิตครั้งแรก อันเป็นนิมิตที่เปี่ยมความหมายและเขาจำมันได้อย่างแจ่มชัด เขาฝันว่าวิ่งไปในทุ่งหญ้ากว้างและพบหลุมลึกรูปสี่เหลี่ยมอยู่กลางทุ่งนั้น พอเขาเดินลงไปก็พบโถงขนาดใหญ่ในวิหาร กับผ้ากำมะหยี่ปูลาดทางเดินสีแดง ไปสู่บันลังก์ทองซึ่งมีลึงค์ขนาดยักษ์นั่งอยู่บนบันลังก์นั้น (ในวัยสามขวบเขาไม่รู้ว่าเจ้าท่อนไม้ปลายเปิดรับแสงนี้อะไร เขาเกิดความหวาดกลัวเพราะคิดว่ามันคือตัวกินมนุษย์)

ยุงเริ่มจำได้ ว่าเล่นอะไรบ้างก็อายุสักประมาณเจ็ดแปดขวบ เขาชอบเล่นก่ออิฐ เอามาสร้างเป็นหอคอยเสร็จแล้วก็ทำลายมันลงด้วย "แผ่นดินไหว" แปดถึงสิบเอ็ดขวบชอบวาดรูปการรบ สงคราม ปิดล้อม ยิงถล่ม ช่วงนี้เป็นช่วงที่พ่อแม่แยกห้องนอนกันและยุงก็เริ่มไปโรงเรียน นิมิตในช่วงนี้ก็จะน่าประหวั่นพรั่นพรึง เหมือนกับสิ่งของหรือสัตว์ที่เขาเห็นในฝันจะค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้นและกดทับเขา แล้วเขาก็ป่วยด้วยโรคคอตีบเทียม หายใจติดขัด ที่โรงเรียนเขาก็ดีใจที่มีเพื่อนแต่ก็เล่าว่าเวลาอยู่กับเพื่อนเขารู้สึกสูญ เสียความเป็นตัวของตัวเอง ดูเหมือนว่าความแก่นแก้ว ก้าวร้าวจะค่อยๆ แทรกเข้ามาในบุคคลิกภาพของเขา เขาพาเพื่อนไปเล่นก่อไฟ ช่วยกันเก็บไม้ฟืนมาเติมเชื้อไฟให้ลุกโชนและเขาเท่านั้นที่จะเป็นผู้ดูแลไฟ และเมื่อมีโอกาสได้อยู่ตามลำพัง เขาจะนั่งอย่างสงบบนก้อนหินก้อนหนึ่ง ครุ่นคิด จินตนาการไปว่า "ฉันนั่งอยู่บนก้อนหินนี้ และมันอยู่ข้างล่างฉัน" แต่หินก็อาจจะคิดว่า "ฉันอยู่บนเนินนี้และเขามานั่งทับฉัน" แล้วก็เกิดคำถามกับตัวเองว่าตกลงฉันคือคนที่อยู่บนก้อนหินหรือฉันคือหินที่ เขานั่งทับอยู่ ยุงจำได้ว่าเขารู้สึกฉงนจนต้องลุกขึ้นมายืนครุ่นคิดว่าเขาคือใครกันแน่ เขากับก้อนหินมีความสัมพันธ์กันอย่างลี้ลับและเขาสามารถนั่งดื่มด่ำอยู่กับ ปริศนาที่มิอาจไขขานนี้อยู่ได้นานนับชั่วโมง

ดูเหมือนช่วงเก้าขวบ พ่อแม่จะกลับมาคืนดีกัน แล้วยุงก็ได้น้องสาวที่อายุห่างกันเก้าปี...

ยุง เริ่มเบื่อหน่ายโรงเรียน โดยเฉพาะคณิตศาสตร์ พีชคณิต ยุงสับสนเรื่องการนับจำนวนตัวเลข และการใช้สัญญลักษณ์เพื่อแทนค่า (แอปเปิ้ล ดอกไม้ ฯลฯ) แล้วนำมาคำนวณตามสูตรคณิตศาสตร์ แต่ที่เขาบอกว่าหงุดหงิดที่สุดก็คือประโยคคณิตศาสตร์ อย่าง a=b และ b=c ดังนั้น a=c เพราะโดยคำจำกัดความ a ก็หมายถึงสิ่งที่ต่างจาก b อยู่แล้ว ดังนั้นจะเอา a กับ b ไปเทียบว่าเท่ากันได้ยังไง การบอกว่า a=b ก็เป็นการโกหกหน้าด้านๆ พอๆ กับที่ครูบอกว่าเส้นขนานสองเส้นจะไปบรรจบกันที่จุดอนันต์

แล้วเพื่อน นักเรียนคนอื่นๆ ก็ทำทีเหมือนกับว่า "เข้าใจ" เรื่องเหล่านี้ ส่วนยุง "ไม่มีความสามารถเชิงคณิตศาสตร" ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เขาไม่เข้าใจเลยว่าครูเขียนสัญญลักษณ์ขยุกขยิกบ้าบออะไรลงบนกระดานดำ หนำซ้ำ ในวิชาวาดเขียน ครูพยายามให้เด็กๆ วาดภาพตามแบบ ขณะที่ยุงกำลังสนุกสนานกับภาพในจินตนาการ ความสามารถทางศิลปะก็เลยถูกตัดสินว่าสิ้นไร้ไปด้วยทันทีที่ครูเอาหัวแพะมา ตั้งเป็นแบบให้ยุงวาด เขาสิ้นหวังกับโรงเรียนแล้ว และเมื่อเพื่อนคนหนึ่งมาผลักเขาจนล้มหัวฟาดขอบทางเท้า ในขณะที่หัวกำลังจะกระแทกพื้นนั้น ยุงแวบขึ้นมาว่า คราวนี้จะได้ไม่ต้องไปโรงเรียนอีกแล้ว ทั้งแกล้งนอนสลบอยู่นานกว่าที่ควรจะเป็นเพื่อเป็นการแก้แค้นเพื่อนคนนั้น

หลังจากนั้นยุงก็จะสลบทุกครั้งที่ต้องไปโรงเรียน หรือต้องทำการบ้านที่ไม่อยากทำ เขาไปโรงเรียนไม่ได้อีกต่อไป พ่อต้องเที่ยวออกปรึกษาหมอหลายแห่งเพื่อรักษาอาการล้มพับสลบเหมือดของเขา แต่หมอทุกคนก็พากันเกาหัว ช่วงเวลาที่ไม่ต้องไปโรงเรียนนี้ยุงมีความสุขกับธรรมชาติ ลานหิน สายน้ำ ป่ากว้าง สมุดบันทึกของพ่อ หนังสือที่มีอยู่ในบ้านเป็นอันมากขณะที่อีก ส่วนหนึ่งของยุงบอกตัวเองว่า เขาสงสารพ่อแม่ที่ต้องเสียเงินทองไป ขณะที่เขาเอาแต่เพลิดเพลินสนุกสนาน และเมื่อแอบไปได้ยินพ่อคุยกับเพื่อนสนิทว่า พ่อเป็นห่วงอนาคตของเขามากเพียงใด เขาก็เลยบอกว่าตัวเองจะเลิกสลบซะที แล้วจะกลับไปเรียนอีกครั้ง ความพยายามจะเรียนหนังสือในช่วงนี้ก็ยังต้องฝืนกับอาการสลบอยู่เป็นพักๆ แต่ความตั้งใจจริงที่จะเรียน ก็ทำให้อาการสลบค่อยๆ ทิ้งช่วงห่างขึ้นเรื่อยๆ จนหายขาดกลับไปเรียนได้ ยอมรับฟังครู ยอมเข้าใจ เท่าที่เพื่อนนักเรียนคนอื่นๆ เข้าใจกันได้ ยุงแทบจะกำหนดได้เลยว่าเขาต้องการให้คะแนนสอบในแต่ละวิชาออกมาเป็นที่เท่า ไหร่ของห้องดี

และเมื่อเกิดความเบื่อหน่ายการเรียนการสอนในโรงเรียน ขึ้นอีก ยุงก็แกะสลักปลายด้านหนึ่งของไม้บรรทัดเป็นตุ๊กตาไม้ ชายชุดดำ ... เขาใส่ชายชุดดำนี้ไว้ในกล่องดินสอ พร้อมเสื้อผ้า และหินที่ระบายสีครึ่งก้อน เอาซ่อนไว้ในที่ลับใต้เพดาน ซึ่งมีเขาคนเดียวเท่านั้นที่จะรู้


สิ่งที่ได้จากการอ่านยุงไปครึ่งเล่มแล้วนี้จริงๆ ก็เป็นเรื่องที่รู้สึกว่าตัวเองจะฝึกอ่อนโยนกับฝันให้มากขึ้น ยุงย้ำว่า ความฝันคือความพยายามในการสื่อสารของจิตไร้สำนึก สู่จิตสำนึก ... จิตไร้สำนึกอันกว้างใหญ่ไพศาลประหนึ่งมหาสมุทร ขณะที่จิตสำนึกนั้นอาจเปรียบได้เพียงน้ำหยดเดียว หากเราใช้ชีวิตจำกัด รับรู้อยู่ในขอบเขตเพียงเท่าที่จิตสำนึกบอกเรา ปิดกั้นเพียงแค่นั้น ชีวิตเราก็คงจะคับแคบ อึดอัดและน่าเวทนานัก เราคงไม่อาจจะตอบคำถามที่มีความหมายอย่างเช่น เกิดมาทำไม หรือในแต่ละขณะ แต่ละสภาวะของของชีวิต ก็ไม่รู้ว่าทำอย่างที่ทำไปทำไม เพื่ออะไร ...

การ อ่อนโยนกับความฝันในทางปฏิบัติซึ่งเมบอกเล่าได้ตอนนี้ก็คือการที่จิตสำนึก รับรู้ จดจำความฝันให้ได้ก่อน (จิตไร้สำนึกพยายามสื่อสารตลอดเวลาเพียงแต่เราไม่เปิดรับฟังเท่านั้นเอง) ไม่ว่าจะเป็นฝันกลางวันหรือหลับฝันตอนกลางคืน
สอง จำได้แล้วก็อย่าพึ่งไปตัดสินว่าเป็นฝันดีหรือฝันร้าย (การด่วนสรุปตีความเร็วๆ อาจจะทำให้ละเลยรายเอียดที่สำคัญๆ บางประการไป ค่อยๆ อ่านค่อยๆ เคี้ยวให้กระบวนการย่อยฝันเป็นไปอย่างละเมียดละมัย)
สาม (อันนี้ส่วนตัว เป็นการบอกตัวเองมากกว่า) การตื่นขึ้นในฝัน ด้วยความหึกเหิม ก้าวร้าวว่า ถือว่าตัวสามารถควบคุมความเป็นไป สิ่งแวดล้อมต่างๆ ในฝันได้ ก็อาจจะไม่ใช่ความอ่อนโยน ไม่เคารพในสารจากจิตไร้สำนึกเพียงพอ การสื่อสารอาจหยุดลงหรือชะลอลงได้

ตอนหนึ่งที่ยุงเล่า เขาได้พบกับครูที่มาในความฝัน เขารู้อย่างชัดเจนว่าครูไม่ได้ "เป็น" หรือ "มาจาก" การสร้างแห่งจิตของเขา เขาน้อมให้ครูเพราะ "สำนึก" ว่าครูไม่ใช่เขา (อย่างไรก็ตามขอละไว้ในฐานที่ไม่รู้ว่าครูอาจจะมาจากหรือเชื่อมโยงอย่างแนบ แน่นกับระดับไร้สำนึกหรือไม่?)
บุคคลิกภาพของคนไข้จิตเภทที่อยู่ในความ ดูแลของยุงก็สอดแทรกเข้ามา "เป็น" ตัวเขาเป็นครั้งคราว ยุงรู้ว่านั่นไม่ใช่ตัวเขา ไม่ใช่ความคิดและบุคคลิกภาพของเขาเลย แต่เขาก็ไม่อาจปฏิเสธ หรือตอบรับทันทีทันใดได้ ต้องอาศัยเวลาในการที่จะค่อยๆ สอดบรรสาน ประหนึ่งค่อยๆ ถักทอจนเป็นเนื้อเดียวมากกว่าที่ทาบเข้ามาทั้งผืน ... นั่นอาจเป็นเหตุให้การบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการปรากฏของครู กับการสอดแทรกทางบุคลิกภาพของคนไข้นั้นมีความต่างอย่างชัดเจนทีเดียว

ความฝันของยุงซึ่งเขาตีความว่า บุคคลิกภาพหมายเลขหนึ่ง (บุคคลิกภาพที่ชัดเจนที่สุดของเขา) เฝ้าประคองเทียนแห่ง "จิตสำนึก" เพราะมีเพียงแสงจากเทียนเล่มน้อยนี้เท่านั้น ที่จะส่องให้เห็นว่าเงาของเราเองไม่ใช่ปีศาจร้ายที่ไหน.....

แล้วก็มาถง "หอคอย" ... เป็นข้อเขียนที่งดงามโดยแท้จริง ช่วงชีวิตวัยหลังเกษียรณ ของคาร์ล ยุง

เขาสร้างหอคอยหินขึ้นมาท่ามกลางมวลหมู่แมกไม้และสารธาร หอคอยแห่งนี้ไม่มีไฟฟ้า น้ำประปา หรือเครื่องมื่อสื่อสารใดๆ ยุงบอกว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ รบกวนวิญญาณบรรพชน ยุงบรรยายเสมือนหนึ่งว่าเขาได้อัญเชิญจิตวิญญาณบรรพชนทั้งมวลมาหลอมรวมกัน ไว้ หอคอยถูกสร้างขึ้นหลังจากที่แม่เสียชีวิตไปได้สองเดือน ค่อยๆ สร้าง ค่อยๆ ทำ แกะสลักหิน ก่อประกอบ ตัดฟื้น แบกน้ำ หุงหาอาหาร ด้วยมือของเขาเอง

ขณะ เดียวกันก็ศึกษา ค้นคว้า เรื่องราวบรรพชน และพบว่าความ"เป็น" เนื้อเป็นตัวของท่านทั้งหลายล้วนถูกสืบสานอยู่ในตัวเขา เขากำลังทำงานที่บรรพชนส่งทอดสืบต่อกันมา ไม่มีอะไรที่เป็นของเขาเด็ดขาด เบ็ดเส็ด อย่างความสามารถในการแกะสลักหิน ก็พบว่ามันอยู่ในเลือดเนื้อของปู่ผู้สร้างตราประจำตระกูลขึ้นมาใหม่ หรือกระทั่งความเป็นแพทย์ก็อยู่ในรุ่นก่อนทวดซึ่งมีชื่อเดียวกับเขา "ดร.คาร์ล ยุง" และอีกคนหนึ่งที่ประวัติสูญหายไป ซิกมุนด์ ยุง ... จนกระทั่งถึงพ่อกับแม่

อ่านแล้วทึ่งมาก เป็นสายธารที่สืบเนื่องมา กว่าจะเป็นคาร์ล กุสตาฟ ยุง คนนี้

แรก ทีเดียวเขาสร้างหอคอยอยู่กับครอบครัว แต่หลังจากที่ภรรยาเสียชีวิตไป เขาอยู่คนเดียวเป็นส่วนใหญ่ (ลูกสาวยุงบอกว่า พ่ออยู่ที่นั่นได้อย่างไร มีแต่โครงกระดูทั้งนั้น...ยุงบอกว่าลูกสาวคนนี้มีญาณพิเศษ ด้วยเธอไม่เคยรู้เรื่องราวอะไรก่อนหน้า แต่พอขุดลงไปก็พบเจอซากโครงกระดูกของทหารฝรั่งเศสมากมายอยู่ใต้ดินรอบๆ บริเวณแห่งนั้น) และยุงก็ยังบอกด้วยว่าเขาฝากจิตวิญญาณ งานแห่งชีวิต ไว้กับหิน... อื่ม... นึกถึงชื่อ ดร.สโตน ขึ้นมาเลย..

ครั้งหนึ่งที่ยุงเล่าเรื่องตอนที่เขาป่วย หัวใจวาย ขาหัก เข้าโรงพยาบาล ขณะที่กำลังจะเข้าสู่ความตาย เขาเกิดนิมิตว่า ไปลอยอยู่นอกโลก แต่ก็ไม่ไกลขนาดที่จะเห็นโลกทั้งใบ เขาเห็นเพียงส่วนโค้งของทรงกลม แล้วบรรยายถึงความงาม แสงสีฟ้าของทะเล สีแดงของทะเลทราย ... งดงาม แจ่มกระจ่าง... แล้วเขาก็เห็นมีก้อนหินขนาดใหญ่ลอยผ่านมา ก้อนหินนั้นมีลักษณะคล้ายอุกาบาต แต่ทว่าเมื่อมองใกล้ๆ กับกลายเป็นประหนึ่งวิหาร มีนักพรตฮินดู ห่มขาว นั่งสมาธิอยู่ภายใน แต่พอเข้าผ่านเข้าไป การผ่านเข้าไปนั้นเป็นประหนึ่งการลอกคราบอันเจ็บปวด ความสัมพันธ์กับโลกทั้งมวลขาดสะบั้นลง .. ภายใน เขาได้พบกับรูปปรากฏของหมอเอช(หมอที่ดูแลอาการป่วยของยุงอยู่) ในภาพกษัตริย์สมมุติเทพ มาบอกให้เขากลับไป เพราะงานของเขามีความสำคัญมาก หมอยอมแลกและพร้อมที่ไปแทนเขา...

เมื่อยุงฟื้นคืนกลับมา เขารู้สึกขาดจากโลก ความเจ็บปวดในการลอกคราบตอนละโลก กลายเป็นความสูญเปล่า ยุงต้องกลับมาอีก เขาบอกหมอเอชทันทีที่เจอว่าให้หมอระวังตัว เพราะหมอจะต้องตาย ด้วยจิตไร้สำนึกของหมอได้พบกับเขาแล้ว หากจิตสำนึกของหมอยังไม่อาจเชื่อมโยงหรือรับรู้ในเรื่องดังกล่าว หมอเอชไม่เข้าใจคิดว่าเพ้อเพราะพิษไข้ แล้วหมอก็จากไปจริงอย่างปัจจุบันทันด่วนในวันแรกที่ยุงลุกขึ้นนั่งบนเตียงคน ป่วยได้เอง

วันนี้แชร์กับน้องๆ หิ่งห้อยไปหลังจากเล่าเรื่องนี้ให้ฟังว่า จิตสำนึกที่ไม่อาจเชื่อมโยงกับจิตไร้สำนึกนั้นถูกดับได้ในบัดดล ด้วยจิตสำนึก แสงเทียนอันริบหรี่ที่ถูกจุดขึ้นมานั้นก็เพื่อรับรู้ ส่องแสง ให้ "เขา" (จิตไร้สำนึก?) ได้เห็นและรู้ตัวของเขาเอง เขาทรงพลังอำนาจเกินกว่าที่จิตสำนึกอันน้อยนิดจะจินตนาการได้ เขาเป็นเหตุแห่งการเกิด การดำรงอยู่ และสอดแทรกติดต่ออยู่เสมอ ในหลายๆ ครั้งที่ยุงย้ำว่าความขัดแย้งระดับต่างๆ ของจิตสำนึกกับจิตไร้สำนึก ส่งผลให้เขาเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาได้ในบท "การเดินทาง"

แล้วก็ถือส่วนของปัจฉิมพินิจชื่อ "หวนคำนึง" ให้ใหญ่ฟังตอนห้าทุ่ม ชอบบทนี้มาก ด้วยยุงเปิดใจอย่างจริงแท้ ทั้งได้ความรู้สึกลึกๆ ของเขา ยุงผู้โดดเดี่ยว ...จบบทนี้แล้วตามด้วยจดหมายของฟรอยด์ถึงยุง ยิ่งซาบซึ้งนัก ฟรอยด์รับยุงเป็นบุตรบุญธรรมและแต่งตั้งให้เขาเป็น "มงกุฎราชกุมารทางความคิด ทางจิตวิญญาณ" แต่ยุงกลับบอกว่า เขาจะไม่ใช้ชีวิตเป็นกำแพงปกป้องความไม่รู้ของใครหรือผู้ใดทั้งนั้น

ในหวนคำนึง ยุงยอมรับว่าเขานั้นโดดเดี่ยว "ข้าพเจ้าได้ทำให้ผู้คนขัดเคืองใจเป็นจำนวนไม่น้อย เพราะในทันทีที่พบว่า พวกเขามิได้เข้าใจ ข้าพเจ้าก็จะเลิกใส่ใจทันที ข้าพเจ้าจำเป็นต้องรุดหน้าต่อไป และหาได้มีความอดทนกับผู้คนไม่ นอกจากคนไข้ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจำเป็นจะต้องเคารพกฏเกณฑ์ภายในซึ่งดำรงอยู่และไม่เปิดโอกาสให้มี เสรีภาพที่จะเลือก แม้ว่าจะมิได้เชื่อฟังทุกครั้งก็ตาม เพราะเราจะมีชีวิตอยู่โดยปราศจากความไม่คงเส้นคงวาได้อย่างไรกัน" ... (ยุงเรียกว่า "ความไม่คงเส้นคงวาอันศักดิ์สิทธิ์") ... "สำหรับคนบางคนแล้ว ข้าพเจ้ามักจะอยู่ร่วมด้วยและสนิทสนมใกล้ชิดกับเขานานตราบเท่าที่เขายัง สัมพันธ์กับโลกภายในของข้าพเจ้า แต่แล้วข้าพเจ้าก็อาจมิได้ดำรงอยู่กับเขาอีกต่อไป ด้วยเหตุที่ไม่มีจุดเชื่อมโยงระหว่างเราเหลืออยู่อีก"....

ยุงพูด คล้ายกับว่า หากความเชื่อมโยงภายในลึกๆ ระดับไร้สำนึกดำรงอยู่ ความแปลกแยกแตกต่างก็จะเป็นเพียง "บุคคลิกภาพแห่งปัจเจก" แต่หากความเชื่อมโยงภายในระดับไร้สำนึกไม่ดำรงอยู่แล้ว นั่นเป็นการเปิดพื้นที่ให้แก่ "อัตตา"

ในวัยเยาว์ ยุงรู้สึกว่าเขาค่อยๆ แบ่งแยกจากบรรดาพืชพรรณ ส่ำสัตว์ เมฆหมอกควัน และวันคืนเพื่อเข้าหาความเป็นตัวเองอย่างช้าๆ ตรงกันข้ามกับวัยชราซึ่งยุงบอกว่า "ยิ่งข้าพเจ้าไม่แน่ใจในตนเองเพียงใด ความรู้สึกสนิทสนมชิดเชื้อกับสรรพสิ่งก็ยิ่งเพิ่มพูนขึ้นเพียงนั้น อันที่จริงแล้ว ดูเหมือนว่าความแปลกแยกซึ่งกั้นขวางข้าพเจ้าออกจากโลก ได้โยกย้ายแปรเปลี่ยนเข้ามาสู่โลกภายใน และได้เผยให้ข้าพเจ้าเห็นถึงความแปลกแยกกับตนเองอย่างคาดไม่ถึง"......

แม่แบบแห่งปัจเจกภาพ .. มณฑลอันศักดิ์สิทธิ์

sum over histories

ผลรวมของอดีต อันรวมศักยภาพความเป็นไปได้ทั้งหมดทั้งมวล The sum over all possibilities and sum over histories: The path integral formulation of quantum theory

พื้นฐานความแตกต่างระหว่างฟิสิกส์คลาสิกกับควอนตัมฟิสิกส์ก็คือความจริงที่ว่า ในโลกควอนตัมนั้น การคาดการณ์อันเที่ยงแท้แน่นอนเป็นเพียง “ความน่าจะเป็น, ศักยภาพของความเป็นไปได้”
ตัวอย่างเช่น อนุภาคซึ่งออกจากเวลา A (tA) –time A ซึ่งมีตำแหน่ง ณ จุด A จะเดินทางไปยังจุด B ในเวลา B (tB) –time B


อนุภาคเดินทางจุด A ไป B

ในฟิสิกส์คลาสิกนั้นเราจะให้คำตอบที่แน่นอนได้ โดยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขชั้นต้นของอนุภาคอย่าง อัตราความเร็วและแรงขับเคลื่อน แต่คำตอบกลับเป็นไปได้ทั้ง “ใช่” และ “ไม่ใช่” ในทางควอนตัม มันเป็นเพียงแค่ศักยภาพความเป็นไปได้ที่อนุภาคในคำถามนั้นจะถูกตรวจพบ (ถูกสังเกต) ณ ตำแหน่ง B ในเวลา tB

รูปฟอร์มที่สมบูรณ์ (ใช้การได้) ได้ถูกคิดค้นขึ้นโดยนักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน ริชาร์ด ฟายน์แมน เป็นเครื่องมือในการคำนวณศักยภาพความเป็นไปได้ของ กลศาสตร์ควอนตัม สูตรของฟายน์แมนถูก ประยุกต์กับการเดินทางของอนุภาคจาก A ไป B ดังต่อไปนี้

ขั้นที่ 1: ไตร่ตรองถึงความเป็นไปได้ทั้งหมดที่อนุภาคจะเดินทางจากจุด A ไปยัง B ไม่เพียงแต่ในความเป็นเส้นตรงที่น่าเบื่อหน่ายเท่านั้น แต่มันยังมีความเป็นไปได้ที่จะหมุนวนกลับเป็นวงและวิ่งไปทุกทิศทางเบี่ยงเบนไปโดยรอบด้วย


อนุภาคเดินทางจาก A ไป B ตามหนทางอันแตกต่างหลากหลาย

ภาพวาดแสดงซึ่งหนทางที่อนุภาคเลือก มันแสดงให้เห็นหกรูปแบบและอีกอเนกอนันต์ ของความเป็นไปได้ (ยังไม่แสดงถึงการไปเยี่ยมนิวยอร์ก อูลันบาตอร์ ดวงจันทร์ หรือกาแลคซี่ แอนโดรเมดร้า) ก่อนที่มันจะมาถึงเป้าหมายปลายทางของมัน ที่สุดท้ายซึ่งไม่ใช่ท้ายที่สุด มันไม่เคยหยุดให้ข้อมูลเกี่ยวกับอัตราการเคลืี่อน ที่เลย ตอนแรกอนุภาคเคลื่อนที่เป็นแนวโค้ง ซึ่งอาจจะเดินทางเร็วมาก (หันมองตามก็อาจจะคอหักตายได้) หรืออาจช้ายิ่งกว่า หอยทากคืบคลาน หรือในอีกทางหนึ่ง ทางอื่นๆ ซึ่งต่างอย่างสมบูรณ์แบบ เป็นอนันต์ของความเป็นไปได้อื่นๆ จากในขั้นแรกไปสู่ทุกๆ หนทางจาก A ไป B ไม่ว่าจะประหลาดล้ำลึกสักแค่ไหนเราก็อาจจะได้เห็น

ขั้นที่สอง คือเชื่อมโยงกับแต่ละความเป็นไปได้เหล่านี้ (ไม่เฉพาะแค่จำนวนที่เราเรียนในโรงเรียน แต่เรายังไม่มีอารมณ์กับความแตกต่างเหล่านั้นในตอนนี้) ในที่สุดจำนวนก็ถูกเชื่อมต่อ กับความเป็นไปได้ (ที่เราต่อเข้าไป) บ้างก็ผ่าน บ้างก็หักล้างกัน บ้างก็เพิ่มขึ้น (ผู้อ่านอาจนึกถึงคลื่นที่เคลื่อนไปถูกช่องทางแล้ว มันคือตัวอย่างของปรากฏการณ์การสอดแทรก) ผลรวมบอกเราถึงความน่าจะเป็นในการสังเกตอนุภาคซึ่งถูกส่งออกจากจุด A ไปยัง จุด B ในเวลาเฉพาะเจาะจงหนึ่ง นักฟิสิกส์เรียกว่าเป็นผลรวมของความเป็นไปได้ทั้งหมดทั้งมวล หรือผลรวมทั้งหมดของอดีต

อย่างไรก็ตาม การคำนวนเส้นทางทั้งหมดอาจจะเป็นเหมือนมายากล ดังตัวอย่างการนำฟิสิกส์อนุภาค มาจากการรวมกันของทฤษฎีควอนตัมกับสัมพันธภาพพิเศษ การรวมแนวทางสำคัญ เพื่อคำนวนหาความเป็นไปได้ของการส่งผลซึ่งกันและกันของอนุภาค ในเส้นทางที่วางไว้ให้ แต่ถูกตรวจจับได้ ทั้งมีความเป็นระเบียบพอที่จะคำนวน ซึ่งจำเป็น ต้องอาศัยมายากลทางคณิตศาสตร์ ทุกๆ แห่งซึ่งมีสูตรฟายน์แมนจะต้องมีพิกัดเวลา (t) อยู่ด้วย
และ t นี้ก็มีส่วนประกอบรวมคือ i ที่เรียกว่าเป็นหน่วยจิตนาการ (imaginary unit) คือสัญลักษณ์ทางพีชคณิตซึ่งจำกัดความโดยยกกำลังสองลบหนึ่ง (ผลของ i.t เรียกว่า เวลาในจิตนาการ “imaginary time”)

การแทนที่ดังกล่าวดูจะไม่ค่อยเป็นธรรมชาติและไม่น่าเป็นไปได้ แต่มันก็กลับเป็นความสอดคล้อง ที่จะเปลี่ยนพิกัดเวลาไปสู่อีกความเป็นอื่นของพิกัดตำแหน่ง ความจริงที่เกิดขึ้นก็คือสูตรฟายน์แมน สามารถให้คำตอบที่ถูกต้อง ได้รับการพิสูจน์อย่างแน่ชัดแล้วโดยสองนักฟิสิกส์คณิตศาสตร์ Konard Osterwalder จากสวิสเซอร์แลนด์และ Rober Schrader จากเยอรมัน พวกเขาได้ทำการพิสูจน์ทฤษฎี โดยแสดงให้เห็นถึงว่าคุณสมบัติของทฤษฎีควอนตัมและสัมพันธภาพสามารถร่วมกันโดยใช้
สูตรฟายน์แมน บนเวลาในจินตนาการหวลมามองกาลอวกาศเดิม

แนวทางการหลอมรวม เป็นประหนึ่งการกลิ้งไปบนทฤษฏีที่แข่งขันกันของ แรงโน้มถ่วงควอนตัม ในทฤษฎีสตริงค์นำเสนอความเป็นไปได้ของการให้ การปฏิสัมพันธ์แบบสตริงค์ สามารถนำมาคำนวนเป็นการรวมหนทาง รวมความเป็นไปได้ทั้งหมดที่สตริงค์สามารถ เคลื่อนไหวผ่านทะลุมิติหลายของกาลอวกาศ ผลรวมความเป็นไปได้ทั้งหมดทั้งมวล ซึ่งสตริงค์สามารถปรับเปลี่ยนรูปทรงและการสั่นส่าย

ดังนั้น ในบริบทของจักรวาลควอนตัม บางข้อเสนอสำหรับคำถามที่ว่าจักรวาลจะมีจุดเริ่มต้นอย่างไร (โดยรวมเงื่อนไขแรกเริ่มของมันไว้ด้วย) สูตรถูกนำมาใช้รวมหนทางความเป็นไปได้ ทั้งร่วมอยู่และปราศจากปัจจัยปริศนา i ในโครงงานนี้ ความเป็นไปได้ของวิวัฒนาการแห่งจักรวาล สู่ผลลัพธ์ที่แน่นอนซึ่งมาจากการความอาจเป็นไปได้ทั้งหมดของเส้นทางการวิวัฒน์ จากอดีต เงื่อนไขแรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การคำนวนขั้นพื้่นฐานสำหรับ การรวมเข้าด้วยกันของแนวทางอยู่ที่ความโค้งของกาลอวกาศแห่งสัมพันธภาพทั่วไป ได้มาเล่นบทนำสู่ปริศนานั้น แล้วก็เช่นเดียวกับที่ผ่านมา เรายังไม่อาจคลี่คลายได้โดยสมบูรณ์

นั่งแปลบทความนี้จาก ไอน์สไตน์ออนไลน์ แล้วก็ไปสะดุดตรง “เวลาในจินตนาการ”
หวนคิดไปถึงเรื่องที่ไบรอัน กรีน เคยบันทึกไว้ว่า “ในทางฟิสิกส์ ปัจจุบันไม่มีอยู่จริง” โดยเขายกตัวอย่างว่าปัจจุบันของคนๆ หนึ่งบนโลกใบนี้ กับปัจจุบันของคนอีกคนหนึ่ง (หากมีอยู่จริง) บนดวงดาวที่ห่างจากโลกนี้ไปไกลสักร้อยปีแสง ปัจจุบันอาจจะดำรงอยู่จริง!!! เอาล่ะนะ ทั้งสองคนสูดลมหายใจเข้าลึกๆ พร้อมกัน และระลึกรู้พร้อมกันว่านี่คือปัจจุบันของเราทั้งคู่ แต่เมื่อใดก็ตามที่เพื่อนต่างดาวลุกขึ้นแล้วเคลื่อนที่ไปในทิศทางที่เข้าหาโลก เขาก็จะมองเห็นโลกในอนาคต (ร้อยปีข้างหน้า) หรือหากเขาเคลื่อนที่ในทิศทางที่ตรงกันข้าม แล้วมองมา เขาก็จะเห็นอดีตของโลกเมื่อร้อยปีที่แล้ว

“i” แทนเวลาในจินตนาการที่มิสเตอร์ฟายน์แมน ใส่ลงไปในสูตรของเขาทำให้เราสามารถ ตรวจวัดตำแหน่งของอนุภาคในกาลอวกาศได้

แล้วการฝึก “อยู่กับปัจจุบันขณะ” ของนักฝึกจิตเล่าอยู่บนฐานความเชื่อไหนกัน???

เมื่อปัจจุบัน ไม่มีอยู่จริง การฝึกอยู่กับปัจจุบันจึงเป็นประหนึ่งการใส่ i ลงไปในสูตรฟายน์แมนรึเปล่า? เราดำรงอยู่ในปัจจุบันนั้นเป็นการ “หยุด” เพื่อที่จะ “รู้” ตำแหน่งแห่งที่ในกาลอวกาศซึ่งไหลเลื่อนเคลื่อนที่อยู่ตลอดใช่หรือไม่?

ทุกครั้งที่เรามองย้อนเข้าไปสำรวจอดีต เราได้ collapsed ให้ปรากฏเพียงเส้นทางเดียว เป็นตามที่มันเป็นมาและจะเป็นต่อไป การ collapsed อดีตก็คือการ collapsed คลื่นความเป็นไปได้ในอนาคต กำหนดให้เหลือเพียงความเป็นไปได้หนึ่งเดียวเท่านั้นด้วยกระมัง?

หากเราสามารถรวมความเป็นไปได้ทั้งหมดของอดีต (sum over histories) โดยเริ่มจากการกลับไปสำรวจอดีตในฐานะของ observer นักสังเกต ผู้เฝ้าดู ซึ่งไม่ใช่เป็นแค่เพียงตัวเรา เป็นแค่เด็กชายเด็กหญิงคนหนึ่งที่เคย ให้ความหมายกับอดีต ตามที่เป็นมา เราก็อาจจะเริ่มเห็นความเป็นไปได้ของอดีตในด้านอื่นๆ ซึ่งจะส่งผลเปิดให้กับคลื่นความเป็นไปได้ แห่งอนาคตใหม่ๆ อันอาจโผล่ปรากฏ

ศักยภาพความเป็นไปได้แห่งอนาคตจะโผล่ปรากฏขึ้นก็ต่อเมื่อเราสามารถรวมความคลื่นความเป็นไปได้ ของอดีต อนาคตจะเปลี่ยน เมื่ออดีตเปลี่ยน โดยเริ่มจาก “หยุด” แล้วหวนกลับไปดูใหม่ด้วยสายตาของนักสังเกตจากปัจจุบันนั้นเอง

Double Slit Experiment




หลายปีมาแล้วที่พ่อ (หมอประสาน ต่างใจ) พยายามอธิบายเกี่ยวกับการทดลองอันลือลั่น “duble slit experiment” นี้ให้ลูกฟัง แล้วสรุปสั้นๆ ว่า อิเลคตรอน โฟตอน หรืออนุภาคนั้นมันเป็นอะไรก็ได้ เป็นคลื่นหรือเป็นอนุภาคก็ได้ ขึ้นอยู่กับการสังเกต ซึ่งลูกก็นำไปโยงใย (ตามระบบเครือข่ายประสาทในสมอง) กับกฏข้อสำคัญทางควอนตัมที่กล่าวว่า “ผู้สังเกตกับสิ่งที่ถูกสังเกตคือหนึ่งเดียวอย่างไม่อาจแบ่งแยกได้”

วันนี้ Fred Alan Wolf, Ph.D. หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์กลุ่ม What the Bleep!? ในนาม Dr. Quantum ได้สร้างสื่อในรูปแบบการ์ตูน ทั้งหนังสือและวีดีโอ ดังที่ได้แนบมาให้ชมพร้อมกันไปนี้ ทำให้การทดลองดังกล่าวถูกเผยแพร่ให้ประชาชนคนธรรมดาทั่วไปได้สัมผัส ควอนตัมฟิสิกส์อย่าง “เห็นภาพ” เข้าใจได้ว่าในโลกควอนตัมนั้นอนุภาคไม่ได้เป็นสสารแข็งตันอย่างลูกหิน ทั้งมันยังทรงคุณสมบัติของความเป็นคลื่น คลื่น-อนุภาค ความเป็นสองในหนึ่งเดียวอีกด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น ความซับซ้อนของการทดลองนี้ยังมีต่อๆ ไป เสมือนหนึ่งจะไร้ขอบเขตเลยทีเดียว แต่ ณ ที่นี้ ผู้เขียนขอแบ่งความซับซ้อน ออกเป็นข้อใหญ่สองข้อคือหนึ่ง “การสังเกตของเราได้เข้าไปมีส่วนล้มคลื่นควอนตัมให้กลายเป็นอนุภาค เป็นสสาร” และสอง “เวลา” อันสัมพันธ์อย่างแยกไม่ได้กับพื้นที่ ตลอดจนมิติ สนามต่างๆ

พูดอย่างนี้ก็คงจะนึกภาพตามลำบากอยู่ดี เอาเป็นว่าหลังจากที่ได้ดูการ์ตูน ดร. ควอนตัมนี้แล้ว ก็ขอให้จินตนาการต่อไป ว่านักฟิสิกส์ได้พยายามทุกวิถีทางที่จะหลอกอนุภาค อย่างเช่น เมื่อมีการสังเกต ตรวจจับทิศทางการวิ่งของมัน มันจะแสดงตัวเป็นอนุภาคให้เราเห็นที่ฉากรับ แต่หากเราไม่สังเกตไม่ถูกตรวจสอบข้อมูลมันก็จะปรากฏเป็นคลื่น ไม่ว่าเครื่องตรวจวัดจะถูกติดตั้งก่อนหรือหลังจากที่อนุภาคจะถูกปล่อยออกมาจากเครื่องยิง มันก็จะมีพฤติกรรมประหนึ่ง “รู้” อยู่แล้วว่าจะถูกสังเกตหรือไม่เสมอ กระทั่งเมื่อนักฟิสิกส์ไปติดตั้งเครื่องมือลบข้อมูล (ที่ได้จากการสังเกต) ก่อนที่มันจะถึงฉากหลังเพียงนิดเดียว นั่นเหมือนกับว่ามันสบายใจที่ข้อมูลถูกลบไปแล้ว แสดงพฤติกรรมเป็นคลื่นในทันที (ทั้งที่ตลอดเส้นทางที่ถูกตรวจวัด มันเป็นอนุภาคมาตลอด) หรือเมื่อนักฟิสิกส์แยกโฟตอนออกเป็นสอง แล้วสังเกตคู่ของมัน โดยที่ไม่ได้ไปยุ่งกับอีกตัวหนึ่งเลย มันทั้งสองก็ยังแสดงพฤติกรรมเป็นอนุภาคเหมือนกันทันที นั่นแสดงว่านอกจากมันจะ “รู้” แล้ว มันยังสื่อสารถึงกันโดยฉับพลันอีกด้วย

หลังจากที่นักฟิสิกส์ได้พยายามหลอกอนุภาคอย่างสุดความสามารถ นอกจากมันจะไม่เคยถูกหลอก แล้วมันยังทำประหนึ่งว่าเราหลอกตัวเองซะอย่างนั้นแหละ ก็ลองคิดดูสิ หากอนุภาคโฟตอนไม่ได้ถูกยิงออกมาจากเครื่องยิง แต่มันถูกส่งมาไกลสักพันปีแสงเดินทางผ่านอวกาศอันไกลโพ้นมาถึงโลก แล้วมีเราเป็นผู้สังเกต แล้วคลื่นก็ล้มให้เราเห็นมันเป็นอนุภาคเป็นสสาร ซึ่งไม่ว่าเราจะไปดักจับมันตรวจ แล้วดักลบข้อมูลที่ตรวจได้ สักกี่ครั้งกี่หน ผลก็ออกเหมือนเดิมว่าอนุภาคนั้น “รู้ตัว” ตั้งแต่ก่อนที่มันจะออกเดินทางแล้วว่าในท้ายสุด มันจะแสดงพฤติกรรมเป็นอะไร จะมีใครมาดักสังเกต ดักลบข้อมูลการสังเกต มันอยู่รึเปล่า

มีอะไรจะพิสดาร เจ้าเล่ห์แสนกล แปลกประหลาดไปกว่าการสังเกต การรับรู้ ของเราอีกไหมนี่?

การสังเกตตรวจวัดจะทำให้อดีตเหลือเพียงความเป็นไปได้หนึ่งเดียวเท่านั้น และผลการตรวจวัดได้กลายเป็นตัวกำหนดเส้นทางการเคลื่อนที่ของอนุภาค(โฟตอน)ไปโดยปริยาย ทำให้มีอดีตเพียงหนึ่งเดียวที่เป็นไปแล้วถูกนำมาพิจารณา โอกาสที่จะเกิดการสอดแทรก (อันเป็นคุณสมบัติของคลื่น) ได้ถูกทำลายไป นั่นคืออดีตทีี่เปี่ยมศักยภาพความเป็นไปได้ทั้งหมดทั้งมวลถูกตัดแต่ง
จากสามัญสำนึกการรับรู้ของเราที่บอกเราว่า มันจะมีเพียงเส้นทางเดียวเท่านั้นที่อนุภาคหนึ่งตัวจะเคลื่อนผ่านไปได้ ณ ขณะหนึ่ง

แล้วก็มาถึงเรื่อง sum over histories ของริชาร์ด ฟายน์แมน (Richard Feynman) ยอดมนุษย์อัจฉริยะเจ้าของสูตรรวมอดีต (ผลรวมของคลื่นความเป็นไปได้ทั้งหมดของอดีตจาก จุด A-B) อันเป็นสูตรการคำนวณที่ใช้การได้กับพฤติกรรมคลื่นอนุภาคซึ่งพาเราไปพ้นทางตันของฟิสิกส์คลาสิก แต่นั่นก็เป็นการบอกเราไปพร้อมๆ กันว่ากฏเอ็นโทรปีข้อสองที่มนุษย์เราทั้งหลายคุ้นเคยอย่างอดีต ปัจจุบัน อนาคต จากการเกิดไปสู่ความเสื่อมสลายและความตาย เวลาเป็นเส้นตรงดั่งลูกศรพุ่งออกไปสู่เป้าหมายนั้นเป็นความเพี้ยนไปจากความจริงพื้นฐานของจักรวาล ... ก่อนจะคุยกันเรื่องความคิดอ่านของเขา เราไปฟังเขาเล่นบองโกในเพลง คิดถึงน้ำส้มคั้น กันก่อนดีกว่า

หลวงปู่ควอนตัม (ตอนที่ 2)


เมื่อมีพระเณรถามหลวงปู่ตามตำราที่ว่ามีเทวดามาชุมนุมฟังเทศน์ หรือมาเฝ้าพระพทุธเจ้าหลายสิบโกฏินั้น จะมีสถานที่บรรจุพอหรือ เสียงจะดังทั่วถึงกันหรือฯ หลวงปู่ตอบว่า “เทวดาจะมาชุมชนุมกัน จำนวนกี่ล้านโกฏิก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะในเนื้อที่หนึ่งปรมาณู เทวดาอยู่ได้ถึงแปดองค์” นั่นหลวงปู่กำลังพูดถึงความจริงทางควอนตัม
ข้อที่ 4 ซึ่งจักรวาลควอนตัมเพิ่มจำนวนได้เป็นหลายๆ จักรวาล หรือหลายมิติ ม้วนซ้อนกันตลอดไป เป็นโลกแห่งอภิมหาสัจธรรม (super-reality world) อันเป็นป่าทึบของความสัมพันธ์ของความเป็นไปได้ต่างๆ นาๆ และความเป็นไปได้แต่ละอย่างก็แยกกันอยู่ในจักรวาลหรือมิติของตนเอง เครื่องมือที่จะใช้สังเกตความเป็นไปได้ก็แยกออกไปด้วย (ระดับชั้นของความจริงที่ม้วนซ้อนสเมือนหนึ่งแยกขาดจากกัน)

แล้วก็มีนักปฏิบัติกราบเรียนหลวงปู่ “กระผมพยายามหยุดคิด หยุดนึกให้ได้ตามที่หลวงปู่สอน แต่ไม่เป็นผลสำเร็จสักที ซ้ำยังเกิดความอึดอั้นแน่นใจ สมองมึนงง แต่กระผมก็ยังศรัทธา ว่าที่หลวงปู่สอนไว้ย่อมไม่ผิดพลาดแน่ ขอทราบอุบายวิธีต่อไปด้วยฯ หลวงปู่ตอบว่า “ก็แสดงถึงความผิดพลาดอยู่แล้ว เพราะบอกให้หยุดคิด หยุดนึก ก็กลับไปคิดที่จะหยุดคิดเสียอีกเล่า แล้วอาการหยุดจะอุบัติขึ้นได้อย่างไร จงกำจัดอวิชชาแห่งการหยุดคิด หยุดนึกเสียให้สิ้น เลิกล้มความคิดที่จะหยุดคิดเสียก็สิ้นเรื่อง” เรื่องนี้สอดคล้องกันกับหัวข้อ “จับกับวาง” ซึ่งหลวงปู่กล่าวไว้ “ผู้ใดหลงใหลในตำราและอาจารย์ ผู้นั้นไม่อาจพ้นทุกข์ได้ แต่ผู้ที่จะพ้นทุกข์ได้ต้องอาศัยตำราและอาจารย์เหมือนกัน” ตำรา อาจารย์ ความคิด ล้วนใช้ตรรกะเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอด เรียนรู้ อันเทียบได้กับความจริงทางควอนตัมข้อที่ 5 ซึ่งบอกว่า โลกและจักรวาลไม่อยู่ภายใต้ตรรกะของเหตุปัจจัย หรือเหตุผลของมนุษย์ (The world obeys a non-human kind of logical reasoning) นักฟิสิกส์ควอนตัมจึงบอกว่า อย่าพยายามทำหรือพยายามเข้าใจฟิสิกส์แห่งยุคใหม่ตามความคิด ความรู้ที่เรามี แต่จงเปลี่ยนความรู้และความคิดที่มีให้เป็นตรรกะแห่งควอนตัม (quantum-logic) หรือตรรกะแห่งคลื่น

“สิ่งที่ปรากฏเห็นทั้งหมดนั้น ยังเป็นของภายนอกทั้งสิ้น จะนำเอามาเป็นสาระ ที่พึ่งอะไรยังไม่ได้หรอก” เป็นคำของหลวงปู่เมื่อมีผู้บอกว่าตนนั้นวาสนาดี ทำวิปัสนาได้สำเร็จเห็นสวรรค์วิมาน เห็นพระจุฬามณีเจดีย์สถาน นั้นเปรียบได้กับความจริงทางควอนตัมข้อที่ 6 โลกและจักรวาลถูกสร้างขึ้นมา ด้วยส่วนขยายของอนุภาคหรือคิวออนส์ (wave-particle) ใดๆ quons คือส่วนขยายเหมือนกันทั้งหมด (The world is made of ordinary object attribute) นั่นคือไม่ใช่รูปกายวัตถุ แต่รับรู้ให้คิดว่าเป็นวัตถุด้วยพื้นฐาน ที่เป็นธรรมหรือส่วนขยายที่อยู่ในสภาพคลื่นของอนุภาคหรือคิวออนส์ พัวพันโยงใยกัน นีลส์ บอร์ห จึงกล่าวเอาไว้ว่า “วัตถุที่มีรูปกายที่เรารับรู้นั้น นอกจากจะเป็นความฟุ่มเฟือยที่ไม่จำเป็นแล้ว มันยังเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เอาเสียเลย”

หลวงปู่ฝากไว้ว่า
“จิตที่ส่งออกนอก เป็นสมุทัย
ผลกันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอก เป็นทุกข์
จิตเห็นจิต เป็นมรรค
ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิต เป็นนิโรธ”
เมื่อมาวางคู่กับความจริงทางควอนตัมข้อที่ 7 จิตวิญญาณสร้างความจริงแท้
(consciousness creates reality) จากเหตุที่เราไม่สามารถตรวจจับวัดทิศทางหรือ ทำนายคุณสมบัติของคลื่นอนุภาคได้ด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ก็เพราะว่า เครื่องมือที่ว่านั้นมนุษย์สร้างขึ้นมาจากกฏแห่งฟิสิกส์คลาสิค แต่ถ้าหากเราใช้ เครื่องมือตามธรรมชาติเช่นสมองในความสงบก็จะปรากฏขึ้นมา จากความเชื่อมโยงของส่วนขยาย นั่นจึงเป็นความจริงอีกขั้นหนึ่งที่ปรากฏขึ้น จากการสังเกต (Observation-created reality) It is no possible to formulate the laws of quantum mechanics in a fully consistent way without reference to the consciousness … in the future the very study of the external world will lead to the conclusion that the content of the consciousness is an ultimate reality.

ครั้งหนึ่งเมื่อมีผู้ถามถึงวิธีละนิมิต หลวงปู่บอกว่า “เออ นิมิตบางอย่าง มันก็สนุกดี น่าเพลิดเพลินอยู่หรอก แต่ถ้าติดอยู่แค่นั้นมันก็เสียเวลาเปล่า วิธีละได้ง่ายๆ คือ อย่าไปดูสิ่งที่ถูกเห็นเหล่านั้น “ให้ดูผู้เห็น แล้วสิ่งที่ ไม่อยากเห็นนั้นก็จะหายไปเอง” กับความจริงทางควอนตัมข้อที่ 8 นั้นเป็น Heisenberg’s potentialities ที่ว่า Only phenomena are real, the world beneath phenomena is not real หรือปราฏการณ์นั้นไม่ใช่เครื่องมือในการรับรู้ความจริง มีแต่จิตวิญญาณเท่านั้นที่มีคลื่นเชื่อมโยงต่อกันกับคลื่นความจริงของจักรวาลซึ่งอยู่ในสภาวะที่เปี่ยมล้นไปด้วยศักยภาพความเป็นไปได้ทั้งหมดทั้งมวล

ตามที่ข้อเขียนนี้ได้ยกเอาความจริงทางควอนตัมทั้งแปดข้อมาเปรียบกับคำสอนของหลวงปู่นั้น ผู้เขียนรู้ดีว่าเกิดจากความ “ริอ่าน” โดยแท้ และหากการเปรียบเทียบนั้นจะเกิดประโยชน์บ้างในทาง “ความคิด” ก็ขอตั้งจิตอธิษฐานให้แปรสภาพจากความเป็นก้อน สู่ความเป็นคลื่น อันทรงคุณสมบัติไหลเลื่อนคลื่อนที่เปลี่ยนแปลงเชื่อมโยงไปอย่างไร้ขอบเขต

หลวงปู่ควอนตัม (ตอนที่ 1)


วันนี้ตั้งแต่เช้าตื่นมาก็เปิดเจออีเมล์ของน้องชาย
ส่งมาเล่าเรื่องความประทับใจของเขาที่ได้มีโอกาสใกล้ชิด ประสบการณ์พิเศษ สัมผัสความสงบเย็นเกินจะบรรยายจากพระอริยสงฆ์รูปหนึ่ง แล้วพอตกบ่ายก็ได้คุยกับน้องอีกคนซึ่งเขาเคยมาเยี่ยมเยียนที่เชียงราย เมื่อสองสามปีก่อน (สมัยมูลนิธิฯ ยังอยู่ที่อิงดอยรีสอร์ท) ใน hi5 และที่ต้องเกริ่นถึงน้องคนนี้ก็เพราะเขาเป็นเหตุให้ภารกิจ ณ ปัจจุบันขณะนี้ กระจ่างชัดขึ้นมา อันเป็นประเด็นที่ทำให้ต้องมาเปิดข้อเขียน “หลวงปู่ควอนตัม” นี้ขึ้น

น้องคนนี้เขาเคย set profile ของเขาไว้ว่า “อ่านหนังสือของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล จบแล้ว” ก็เลยทำให้สนใจอยากรู้จักเขาให้มากกว่าความรู้สึกแค่คุ้นๆ น่าตา ทำให้ไปไถ่ถามคุณใหญ่ (วิศิษฐ์ วังวิญญู) ว่าน้องเอ๋คนนี้เป็นใครกัน รายนั้นก็ตอบมาว่า “ก็เอ๋ที่อ่านเคน วิลเบอร์ ไงล่ะ” โอ้โห… คนอ่านเคน วิลเบอร์ แตกฉานบ้านเราก็มีไม่กี่คน (อ่านแตกจนคุณใหญ่จำได้) แล้วยังมา “ริอ่าน” หนังสือหลวงปู่ควอนตัมอีกแน่ะ จำเราจะต้องเข้าไปทักทายเขาเสียหน่อยแล้ว

น้องเอ๋ชวนคุยกลับมาว่าเขาอ่าน “จิตคือพุทธะ” ที่หลวงปู่เทศน์แล้วเหมือนอ่าน A Brief History of Everything ของ เคน วิลเบอร์ หรือว่าเคนเขียนเหมือนหลวงปู่เทศน์กันแน่ ?? แล้วพี่เมมองคำสอนหลวงปู่จากมุมมองควอนตัมแล้วเป็นไง ชวนให้เล่าสู่กันฟัง…

เมื่อนานมาแล้ว พ่อ (หมอประสาน ต่างใจ) เคยบอกไว้ว่า มีหลวงปู่… รูปหนึ่งพูดภาษาควอนตัม ลูกก็ไม่เคยได้เที่ยวไปค้นหา จนกระทั่งวันหนึ่งได้พบหนังสือ “หลวงปู่ฝากไว้” (รวบรวมบันทึกไว้โดย พระครูนันทปัญญาภรณ์) เป็นหนังสือเล่มเล็กที่บันทึกคำของหลวงปู่ เป็นบทสั้นๆ เอาไว้ ก็เลยลองพลิกๆ อ่านดู … การริอ่านโดยบังเอิญครั้งนั้นสร้างความตื่นตะลึงลาน งง ทึ่ง จนถึงรู้แจ้งกระจ่างในใจว่าหลวงปู่ดูลย์นี้ไซร้ แน่แท้ “หลวงปู่ควอนตัม” ที่พ่อบอก

กลับไปยังประเด็นที่น้องเอ๋ตั้ง อย่างตั้งใจจะให้ไปพ้นการเปรียบเทียบแบบหยาบๆ แต่… เมื่อกลับไปพลิกดู “จักรวาลกับสัจธรรม” ซึ่งพ่อรวมความจริงทางควอนตัมเอาไว้ มาประกอบกันแล้ว ก็คงจะต้องขอเชิญคนอ่านพิจารณาหยาบ ละเอียด กันไปตามภูมิธรรมเถิด

เริ่มจากหัวข้อ “จริง แต่ไม่จริง” ของหลวงปู่ ซึ่งตอบคำถามที่ว่าเมื่อผู้ปฏิบัติกัมมัฏฐาน ทำสมาธิภาวนา เห็นนิมิตต่างๆ กันไป บ้างเห็นนรก สวรรค์ หรือไม่ก็เห็นองค์พระพุทธรูป สิ่งที่เขาเห็นเหล่านั้นเป็นจริงหรือ? หลวงปู่บอกว่า
“ที่เห็นนั้น เขาเห็นจริง แต่สิ่งที่ถูกเห็น ไม่จริง” ซึ่งขอนำมาวางเคียงกับ
กฏควอนตัมข้อที่ 1 นีลส์ บอห์ร สรุปว่า “There is no reality in the absence of observation” (สรรพสิ่งไม่มีจริงถ้าเราไม่เข้าไปสังเกตมัน) หรือโลกและจักรวาลเป็นจริงตามที่เราสัมผัส มันจริงในระดับกายวัตถุเท่านั้น แต่ไม่เป็นจริงในโลกควอนตัม

ปัญหาโลกแตกแบบมโนสาเร่ หลวงปู่ก็เคยตอบไว้เมื่อมีผู้ถามว่าไก่กับไข่อะไรเกิดก่อน หลวงปู่ตอบว่า “เกิดพร้อมกันนั่นแหละ” นี่หากจะเทียบอาจนำไปเทียบได้กับภาพมือสองข้างที่ต่างก็วาดกันและกันขึ้นมา ตามกฏความจริงทางควอนตัมข้อที่ 2 Observation Creates worldly reality หรือที่จอห์ อาร์ซิบาลบอกว่า “เป็นความจริงที่ผู้สังเกตสร้างขึ้นมา ไม่มีปฐมกาลหรือปรากฏการณ์ใดเป็นจริงจนกว่าปรากฏการณ์นั้นจะถูกสังเกต"

ส่วนในบท “โลกกับธรรม” หลวงปู่บอกว่า “สิ่งใดซึ่งสามารถรู้ได้ สิ่งนั้นเป็นของโลก สิ่งใดไม่มีอะไรจะรู้ได้ สิ่งนั้นคืออธรรม โลกมีของคู่อยู่เป็นนิจ แต่ธรรมเป็นของสิ่งเดียวรวด"
ความจริงทางควอนตัมข้อที่ 3 Reality is undivisable wholeness ความจริงแท้คือความเป็นหนึ่งเดียวที่ไม่อาจแบ่งแยกออกจากกันได้ สรรพสิ่งและปรากฏการณ์ต่อเนื่องกันด้วยส่วนขยาย (attributes) ที่ได้มาจากอนุภาค ส่วนขยายจะพัวพันเชื่อมโยงกันเป็นพื้นฐาน การเกิดของสรรพสิ่งและสรรพปรากฏการณ์ (Phrase-Tangleness) ซึ่งในระดับควอนตัมที่แยกจากกันไม่ได้นี้เป็นพื้นฐานหลักที่เดวิด โบห์มเรียกว่า “The inseparable quantum interconnectedness of the universe in the fundamental reality”

มีต่อตอนที่ 2